น้ำมันเครื่อง หรือ น้ำมันหล่อลื่น มีความสำคัญกับระบบเครื่องยนต์ในการทำงานเป็นอย่างยิ่งเพราะทุกๆชิ้นส่วนของระบบเครื่องยนต์เมื่อมีการทำงาน แต่ละชิ้นส่วนนั้นก็จะเกิดการเสียดสีกันอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนสะสมที่บริเวณพื้นผิวของวัสดุที่เสียดสีกัน นอกจากนี้สิ่งสกปรกที่เกิดจากการเผาไหม้ หรือเศษชิ้นส่วน อาจตกค้างอยู่ในห้องเครื่อง จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันเครื่อง เพื่อ

• ช่วยให้เครื่องยนต์สตาร์ทติดง่าย

• ช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ ช่วยลดการสึกหรอ

• ช่วยลดแรงฝืด หรือแรงเสียดทาน

• ลดการกัดกร่อน ที่เกิดจากเศษชิ้นส่วนที่หลุดออกมา และปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้น

• ช่วยทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เคลื่อนที่ของเครื่องยนต์สะอาด

• ลดการเกิดสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นในห้องเผาไหม้

• ช่วยระบายความร้อนให้กับชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์

ความสำคัญของน้ำมันเครื่องรถยนต์

1. ทำหน้าที่ในการหล่อลื่น น้ำมันเครื่องยนต์จะเข้าไปหล่อลื่นและเคลือบชิ้นส่วนโลหะในเครื่องยนต์คล้ายๆกับฟิล์มเคลือบอยู่ที่ผิวโลหะ เพื่อที่จะช่วยลดการสัมผัสกันโดยตรงของชิ้นส่วนโลหะเหล่านี้ จึงทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างไหลลื่นและไม่ติดขัด สำหรับความหนาของฟิล์มนั้นจะขึ้นอยู่กับความหนืดของน้ำมันเครื่องนั่นเอง

2. ทำหน้าที่ในการป้องกันสนิมและการกัดกร่อน เมื่อเครื่องยนต์เกิดการเผาไหม้ก็จะทำให้เกิดความชื้นและไอน้ำ อันเป็นสาเหตุให้เกิดสนิมขึ้นกับชิ้นส่วนต่างๆได้ ในขณะเดียวกัน การเผาไหม้เชื้อเพลิงก็ทำให้เกิดกรดกำมะถัน ซึ่งสามารถกัดกร่อนชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ให้สึกหรอได้ น้ำมันเครื่องจึงมีหน้าที่ไปทำให้ไอน้ำและกรดกำมะถันเจือจางลง สามารถช่วยป้องกันสนิมและการกัดกร่อนได้อย่างดี

3. ทำหน้าที่ในการระบายความร้อน ในช่วงที่เครื่องยนต์กำลังทำงานนั้นจะเกิดความร้อนขึ้นบริเวณรอบๆฝาสูบ รอบๆกระบอกสูบ ลูกสูบ ข้อเหวี่ยงและ ชิ้นส่วนภายในต่างๆ ปั๊มน้ำมันเครื่องจะส่งน้ำมันเครื่องไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ เมื่อน้ำมันเครื่องไหลกลับก็จะพาเอา ความร้อนกลับลงไปสู่อ่างน้ำมันเครื่องด้วย จึงเป็นการระบายความร้อนให้ชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์อีกทางหนึ่ง

4. ทำหน้าที่ในการป้องกันการรั่วของกำลังอัด น้ำมันเครื่องจะมีลักษณะเป็นฟิล์มเข้าไปช่วยเคลือบผนังกระบอกสูบ และทำหน้าที่ป้องกันการรั่วของกำลังอัดภายในกระบอกสูบที่จะไหลผ่านระหว่างแหวนกับลูกสูบ และจากกระบอกสูบลงสู่ห้องแคร้งของเครื่องยนต์ได้

5. ทำหน้าที่ในการทำความสะอาด เมื่อการเผาไหม้ในเครื่องยนต์เกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดเขม่าและผงโลหะได้ เมื่อเป็นแบบนี้จึงอาจทำให้เกิดการอุดตันภายในชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ดังนั้นน้ำมันเครื่องก็จะมีหน้าที่ชะล้างเขม่าและป้องกันการรวมตัวกันของผงโลหะที่อาจทำให้เกิดการอุดตันได้ ซึ่งก็สังเกตได้เลยว่ารถที่ไม่ค่อยได้ถ่ายน้ำมันเครื่องมักจะมีควันดำออกมาจากท่อและมักจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายเลยทีเดียว

โดยทั่วไปน้ำมันเครื่อง มี 3 ชนิดคือ

1. น้ำมันเครื่องธรรมดา ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม ใช้งานได้ 5,000-7,000 กม.

2. น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นธรรมดากับชนิดสังเคราะห์ ใช้งานได้ 7,000-10,000 กม.

3. น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่สังเคราะห์ จากน้ำมันปิโตรเลียมด้วยกระบวนการกลั่นที่ล้ำหน้า จึงมีคุณภาพและความบริสุทธิ์สูงกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา ใช้งานได้ 10,000-15,000 กม.

อย่างไรก็ตาม ระยะการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ยังขึ้นอยู่กับ ลักษณะการใช้งาน ระยะเวลา และความพึงพอใจของผู้ใช้อีกด้วย

ในปัจจุบันน้ำมันเครื่องมีให้เลือกซื้อหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งถึงแม้จะมีน้ำมันเกรดเหมือนกัน แต่จะมีความต่างกันตรงที่ สารเพิ่มคุณภาพ ซึ่งจะเป็นสูตรเฉพาะของแต่ละยี่ห้อ

ในการใช้รถทั่วไป เราควรหมั่นตรวจเช็คระดับของน้ำมันเครื่องเสมอ โดยใช้ก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง

หากระดับน้ำมันเครื่องสูงเกินไป น้ำมันเครื่องจะถูกดันผ่านแหวนลูกสูบขึ้นไปเผาไหม้กับน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีเขม่าจับภายในห้องเผาไหม้ ทำให้เครื่องเกิดการน็อค อย่างรุนแรง / น้ำมันเครื่องจะดันออกทางซีลด้านหน้าและด้านหลังของเพลาข้อเหวี่ยง ทำให้เกิดการรั่วซึมได้ง่าย / ทำให้เกิดแรงดันในห้องเครื่องสูงและจะดันไอน้ำมันเครื่องออกมาทางท่อระบายได้มาก / ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด

หากระดับน้ำมันเครื่องต่ำเกินไป ปั๊มน้ำมันเครื่องจะไม่สามารถดูดน้ำมันและส่งไปหล่อลื่นชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวภายในเครื่องอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการสึกหรออย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องพัง
line-spy
facebook-samphanyont
tel_samphanyont
map-samphanyont